Search-form

ดนตรีมีดี เพื่อแม่ท้องโดยเฉพาะ



         แม่ท้องจะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ต้องการให้ดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ คุณแม่หลายคนต้องเผชิญกับความเครียดจากการอุ้มท้อง กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ภาวะซึมเศร้า ความอึดอัดจากท้องที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน และกลัวการเจ็บปวดจากการคลอด ซึ่งอารมณ์ซึมเศร้าจะส่งผลกระทบถึงสุขภาพของแม่ และส่งต่อไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้ เนื่องจากร่างกายจะหลั่งสารแห่งความเครียด หรือฮอร์โมนคอร์ติโซน ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ร่างกายอ่อนแอ และไม่สบายได้ง่าย
        การนำดนตรีเข้ามาใช้กับคุณแม่ท้อง มีส่วนช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย และส่งให้ลูกในท้องเติบโตอย่างมีความสุขด้วย Modern Mom ไปคุยกับครูเชอรี่–นุชนารถ วัฒนศัพท์ ครูสอนร้องเพลงและดนตรีสำหรับเด็ก HUG School Creative Arts และอาจารย์พิเศษ ภาควิชาดนตรีสากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงประโยชน์ของดนตรีต่อแม่ท้อง และกิจกรรมดนตรีที่คุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ แม้ไม่ทักษะมาก่อน

ดนตรีช่วยคุณแม่ได้
        คุณแม่สามารถสร้างดนตรีได้เองจากการเล่นเครื่องดนตรีเอง การร้องเพลง (Active) และการฟัง(Receptive) ในการบรรเทาอาการต่าง ๆ ซึ่งดนตรีมีดีสำหรับแม่ท้องดังนี้ค่ะ

     1. ทำให้แม่ท้องมีความสุข อารมณ์สดชื่น ช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารและออกซิเจนอย่างเต็มที่ เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตในครรภ์
     2. ช่วยปรับอารมณ์ ดนตรีที่อ่อนโยนจะช่วยให้แม่รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ ดนตรียังช่วยสร้างบรรยากาศให้แม่ได้หลีกหนีจากความวุ่นวาย และมีโลกส่วนตัวตามที่ต้องการได้
     3. ช่วยปรับร่างกาย การเลือกใช้ดนตรีที่เหมาะสมมาใช้ร่วมกับการเคลื่อนไหว จะช่วยให้แม่ได้ปรับสภาพร่างกาย ให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และเตรียมความพร้อมและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสู่การคลอดที่มีคุณภาพ
     4. ช่วยให้การหายใจและการเต้นของหัวใจของแม่สม่ำเสมอ มีความดันโลหิตสูบฉีด และการบีบตัวของกล้ามเนื้อทำงานประสานกันดี ตลอดการหลั่งสารฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน สารแห่งความสุข ซึ่งมีผลต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติโซนที่ทำให้เกิดความเครียดได้ การร้องเพลงก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้คุณแม่ได้หายใจลึกขึ้น และเป็นจังหวะ ทั้งยังได้ฝึกกล้ามเนื้อกระบังลมให้แข็งแรง มีระบบการย่อยอาหารที่ดี
     5. ช่วยทำให้แม่ได้กระตุ้นให้ลูกพัฒนาระบบการฟัง สมองทั้งซีกซ้ายและขวาของคุณแม่มีการทำงานประสานกันดี
     6. ช่วยสร้างความสัมพันธ์แม่-ลูก ดนตรีเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสื่อสัมพันธ์ไปยังลูกในท้อง รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์พ่อ-แม่-ลูกช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจ มีความผูกพันและมีความรู้สึกที่ดีต่อแม่
     7. ช่วยให้แม่ตัดความกังวล ลดความเจ็บปวด ลดความตึงเครียด เช่น ในการเจ็บครรภ์ในระหว่างรอคลอด คุณแม่สามารถฟังเพลงบรรเลง และหายใจผ่อนคลายกล้ามเนื้อในส่วนต่างของร่างกายไปตามจังหวะขณะมดลูกบีบตัว ซึ่งจะส่งผลช่วยให้ลูกได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่

กิจกรรมดนตรีเพื่อแม่ท้อง
         ส่วนกิจกรรมดนตรีที่คุณแม่สามารถทำได้นั้น มีหลากหลายวิธีไม่ใช่แค่การฟังเพลงอย่างเดียว แต่จะมีอะไรบ้างต้องติดตาม รับรองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเลยค่ะ

       1. ฟัง คุณแม่ต้องเลือกฟังเสียงดนตรีที่ฟังแล้วนุ่มนวล รื่นหู สบายอารมณ์ มีเนื้อร้องในเชิงบวก หรือเพลงบรรเลง เพลงคลาสสิก ดนตรีไทยคลาสสิก แจ๊ซ สิ่งสำคัญคือฟังสิ่งที่คุณแม่มีความสุข เพียงแต่ควรต้องละเอียดในการเลือกเพลงฟังให้มากขึ้น

       2. ร้อง ช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์นั้น คุณแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงเพลงที่เขาคุ้นเคย การที่ได้ร้องเพลงหรือแต่งเพลงพิเศษขึ้นในโอกาสต่างในชีวิตประจำวัน เพื่อร้องให้ลูกฟังบ่อยๆ โดยเลือกเพลงที่มีเนื้อหาที่มีความหมายที่ดี ขณะที่ร้องก็ลูบท้องและสัมผัสหน้าท้องไปด้วย เปรียบเสมือนเล่นกับลูกและพูดคุยไปด้วยค่ะ โดยให้สัมผัสตามจังหวะของเพลง ความดัง-เบาของดนตรีและน้ำหนักของเสียงร้อง หากเป็นเพลงที่มีเนื้อเพลง คุณแม่จะรู้สึกเพลิน สนุกขึ้นมากไปกว่าการฟังเพลงหรือการฮัมเพลงอย่างเดียว

         เมื่อลูกได้คลอดออกมา คุณแม่ร้องเพลงที่เคยร้องให้ฟังเป็นประจำตอนลูกอยู่ในท้อง ลูกก็เป็นแบบนั้นจริงๆค่ะ เป็นเด็กอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง เลี้ยงง่าย ไม่งอแงค่ะ คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าเสียงไม่เพราะนะคะ ลูกชอบฟังเสียงคุณแม่อยู่แล้วค่ะ แถมลูกได้ฝึกฟัง เพิ่มพูนพัฒนาการทางภาษาไปด้วย

       3. เล่น คือการเล่นกับลูกโดยใช้ดนตรี เช่น เพลง Dance Of The Hours (Playtime Music Box :The Baby Einstein Music Box Orchestra) สามารถเล่นกับลูกได้โดยการเคาะตามจังหวะทำนอง จำแนกเสียงเครื่องดนตรีไปที่บริเวณหน้าท้อง หรือใช้เพลง Raimond Lap : Lovely Baby Mozart และ Lovely Baby Magic (Disc 2) เป็นอัลบั้มที่น่ารัก มีเสียงเด็กๆ ฝึกให้ลูกในท้องฟังส่วนประกอบของดนตรีที่หลากหลาย รวมทั้งมีเพลงคลาสสิกที่เอามาทำให้น่าสนใจขึ้น โดยใส่เสียง Background เช่นเสียงน้ำไหล หรือเพลง Head Sholders Knees and Toes ก็สามารถนำมาเล่นกับลูกได้ เช่น ในไตรมาสท้าย คุณแม่ใช้นิ้วมือจักจี้ไปที่อวัยวะที่ลูกเป่งตัว โก่งตัวออกมา แล้วร้องเพลงทายว่าอวัยวะนี้ของลูกคือส่วนไหน หรือถ้าลูกเกร็งตัวจนทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด ให้เลือกเพลงที่ผ่อนคลาย แล้วหายใจเข้าออกตามจังหวะเพลงพร้อมลูบท้องเบาๆ เช่นเพลง Fetus Dance ในอัลบั้ม Pregnancy Relaxation Moods หรืออาจจะเปิดเพลงซักท่อนหนึ่งแล้วหยุดแล้วให้คุณแม่ลองเดินตามจังหวะคำร้อง หรือท่วงทำนอง หนักเบา ช้าเร็ว ให้คุณแม่กับคุณลูกได้สื่อสารกันผ่านโลกแห่งดนตรีโดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ

      4. เคลื่อนไหวประกอบการฟังเพลง เช่น การเต้นรำ การเต้นรำอย่างอิสระ(Free Dancing) สามารถทำได้โดยคุณแม่ไม่ต้องมีพื้นฐานการเต้น เพียงแต่ใช้มือ 2 มือของแม่โอบรองรับท้องไว้แล้วเคลื่อนไหว เต้นรำไปกับจังหวะเสียงเพลงที่ได้ยิน คุณพ่ออาจเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยอยู่ทางด้านหลังคุณแม่ช่วยโอบอุ้มท้องคุณ แม่ไว้ และรองรับ support น้ำหนักที่หลังคุณแม่ พร้อมเคลื่อนไหวไปด้วยกัน หรือในตอนเช้า ตื่นขึ้นนอนจากเตียง คุณแม่ส่วนใหญ่จะต้องเผชิญกับอาการปวดหลัง การทำท่า Cat&Dog โดยวิธีโยคะเป็นการยืดกล้ามเนื้อที่ได้ผลมาก ให้เลือกเพลงที่เป็นเพลงบรรเลง จังหวะค่อนข้างช้า สม่ำเสมอ เช่นเพลง Temple Of The Dawn ของ Koh Mr.Saxman เครื่องดนตรีที่ใช้อาจเป็นชนิดเครื่องเป่า เช่น แซ็กโซโฟน หรือฟลุต ก็จะช่วยการฝึกการหายใจ ให้รู้สึกผ่อนคลายมาก ๆ เป็นฝึกเตรียมการหายใจ และการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อให้พร้อมในวินาทีการรอคลอดหรือปวดท้องคลอด

        หลายคนอาจได้ลองฝึกเต้นระบำหน้าท้อง Belly Dance เพลงที่ใช้มักจะเป็นในรูปแบบจังหวะกลองที่หลากหลาย ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน้าอกส่วนบน ท้อง และสะโพกได้ และได้รูปร่างที่ดีในช่วงตั้งครรภ์ด้วย ท่าที่ช่วยได้มากคือการเต้นไปในทิศทางเหมือนเครื่องหมาย Infinity ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่ง หรือการเต้นรำในแบบ Latin เช่น Salsa เป็นการเต้นที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศคิวบา ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีมาก เพราะจะได้เคลื่อนไหวและใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ขาของคุณแม่จะแข็งแรง เพราะเป็นส่วนที่รับบทหนักที่สุด รองลงมาคือก้นและสะโพก กล้ามเนื้อตั้งแต่หน้าท้องลงไปจะได้ใช้ทั้งหมด บรรยากาศเพลงที่เลือกใช้ในการเต้นควรไม่เร็วจนเกินไป สนุกสนาน ครื้นเครง ช่วยให้คุณแม่กระฉับกระเฉงมากขึ้น เพราะมีเสียง Percussion ที่มีสีสันและหลากหลาย

     5. สร้างสรรค์งานศิลปะ กิจกรรมที่อยากแนะนำอีกหนึ่ง คือ ให้คุณแม่เปิดเพลงต่างๆ แล้วลองสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามจินตนาการทางการได้ยิน ขณะเดียวกันพูดคุยกับลูกไปด้วย

ความสุขจากแม่สู่ลูก
        สิ่งที่คุณแม่ท้องรู้สึกและสัมผัสได้ ย่อมส่งผลต่อไปถึงลูก การที่คุณแม่ได้ฟัง ร้อง เล่นดนตรี ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกแจ่มใส มีความสุขก็ย่อมทำให้การพัฒนาของลูกดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์ค่ะ

        ร่างกายแม่ผ่อนคลาย ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น มดลูกคลายตัว ทำให้ลูกอยู่อย่างสุขสบายในครรภ์ ได้รับสารอาหาร และออกซิเจนอย่างเต็มที่ สภาพจิตใจของแม่ ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพกายของแม่ ซึ่งสุดท้ายก็จะไปมีผลต่อลูกในท้อง ความผิดปกติบางอย่างของลูก มีความเกี่ยวข้อองกับสภาพจิตใจแม่ระหว่างตั้งครรภ์ อย่างที่มีนักวิจัยพบว่า ลูกที่เป็นออทิสติกสัมพันธ์กับแม่ที่มีภาวะความเครียดสูงระหว่างตั้งครรภ์ และดนตรียังมีส่วนช่วยให้ลูกที่คลอดออกมาแล้วเลี้ยงง่าย เพราะเขามีความคุ้นเคยกับดนตรี และรู้จักการตอบสนองต่อดนตรีตั้งแต่ในท้อง เราจึงสามารถนำดนตรีมาใช้ในการเลี้ยงลูกอย่างได้ผลดี

         จะเห็นได้ว่าการนำดนตรีเข้าใช้ในชีวิตคุณแม่นั้นมีประโยชน์ และสามารถทำได้ไม่ยาก ให้น่าไปลองทำกันนะคะ 


ที่มา Modern MoM

0 comments:

Post a Comment

Facebook Twitter Delicious Digg Stumbleupon Favorites More