กระเทียมเป็นที่รู้จัก คุ้นเคย ในการใช้เพิ่มกลิ่นและรสชาติของอาหาร กระเทียมที่ใช้ในอาหารต่างๆ กับกระเทียมสดๆ ก็มีกลิ่นและรสชาติต่างกัน กระเทียมสดจะมีกลิ่นแรงและรสเผ็ดร้อน จนหลายคนแทบจะ รับประทานกระเทียมสดไม่ได้
กลิ่นและความเผ็ดร้อนของกระเทียมนี้ มีประโยชน์ ตั้งแต่สมัยโบราณ ประเทศแถบต่างๆ ที่มีการ ปลูกกระเทียม รวมทั้งประเทศไทย นอกจากใช้กระเทียมเพื่อปรุงแต่งอาหารแล้ว ยังใช้กระเทียมสด ซึ่งเน้น ว่ายิ่งสด ยิ่งดี ในการขับลม รักษาอาการแน่นจุกเสียด หรือใช้กับผิวหนังในโรคกลาก เกลื้อนได้ เพราะ สารอัลลิซินสามารถยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา แต่ขณะเดียวกัน กระเทียมก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ในคนที่ ต้องทำงานที่ถูกกับเนื้อกระเทียมบ่อยๆ ผิวหนังอาจเกิดเป็นตุ่มน้ำ หรือเกิดการอักเสบได้ หรือในคนที่ได้ กลิ่นกระเทียมบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน ก็สามารถเกิดการแพ้เมื่อรับประทานกระเทียมได้ โดยอาจมีอาการ คลื่นไส้ หัวใจเต้นแรง และอาการจะค่อยๆหายไปภายใน 3-4 ชั่วโมง กระเทียมที่ปรุงในอาหาร มักก่อให้เกิด การแพ้น้อยกว่ากระเทียมสด
ความแตกต่างของกระเทียมที่ปรุงอยู่ในอาหาร หรือผ่านกระบวนการหมักดอง กับ กระเทียมสด ย้อนกลับไปที่กระเทียมสดก่อน ในกระเทียมสดนอกจากมีสาร อัลลิชิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา แมลง ยังมีสารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน รวมทั้งวิตามิน และเกลือแร่ วิตามินในกระเทียม มี ทั้งวิตามิน A, B-1, B-2 และ C เกลือแร่หรือแร่ธาตุ ก็มีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ซิลิเนียม เหล็ก สังกะสี ซึ่ง ด้านแร่ธาตุนี้จะมีในเนื้อกระเทียมได้มากหรือน้อย จะขึ้นกับดินที่ใช้ปลูกต้นกระเทียมด้วย เป็นที่ยอมรับว่า กระเทียมมีธาตุซิลิเนียมมากกว่าพืชอื่นๆ นอกจากนี้ในกระเทียมสดยังพบสารอะดิ- โนซีน (adenosine) ซึ่งเป็นกรดนิวคลีอิกที่สร้าง DNA และ RNA ของเชลล์ในร่างกาย
เมื่อกระเทียมผ่านการปรุง หมักดอง หรือถูกความร้อน เช่นกระเทียมเจียว กระเทียมดอง สารอัล ลิซิน และวิตามินในกระเทียมจะถูกทำลาย สารอัลลิซินจะแตกสลายเป็นสารประกอบซัลไฟด์มากมาย กระเทียมที่สับทิ้งไว้ สารอัลลิซินก็สลายตัวเองไปเหมือนกัน ดังนั้นกลิ่นของกระเทียมที่ผ่านการปรุงจึงเป็น ผลจากสารประกอบซัลไฟด์ต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งรสเผ็ดจะหายไป สารอัลลิซินเองมีลักษณะเป็นน้ำมัน เมื่อ สลายตัวจะได้สารประกอบทั้งที่มีคุณสมบัติละลายในน้ำ และในน้ำมัน ในบางพันธ์ของกระเทียม สารอัลลิ ชินเปลี่ยนแปลงเกิดเป็นสารประกอบซัลไฟด์ได้เป็นร้อยชนิด ซึ่งตามรายงานการวิจัยต่างๆ กลับพบว่าสารที่ เป็นผลจากการสลายตัวของอัลลิซิน มีประโยชน์มากมาย เช่น สามารถช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล ละลาย ลิ่มเลือด ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
การใช้กระเทียมเป็นยา
จนปัจจุบัน ยังไม่สามารถรับรองกระเทียมเป็นยารักษาโรคได้ หรือเป็นสมุนไพรทางเลือก ในการรักษา (Alternative therapy) เพราะผลการใช้และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับ ผู้ใช้ ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน กระเทียมจึงเป็นเพียงสมุนไพรเสริมสุขภาพ (Herb supplement) และมีบ้างในต่างประเทศที่ได้พยายามศึกษาทดลองให้กระเทียมเป็นสมุนไพรใช้ร่วมกับการ รักษาปัจจุบัน (Complementary medicine)
ผลิตกระเทียมเสริม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากกระเทียมออกมาสู่ท้องตลาด เน้นการปราศจากกลิ่นของกระเทียม โดยถูก จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมสุขภาพ การที่จะตัดสินใจใช้ หรือเลือกใช้ ควรต้องคำนึงถึงหลายๆอย่าง ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่จะให้นี้ ไม่ได้เพื่อส่งเสริมหรือชักจูงให้ใช้ แต่ต้องการให้เป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงในการตัดสินใจ
1. สารสกัดน้ำมันกระเทียม เป็นการให้ความร้อนกับกระเทียมในน้ำมันพืช จะได้สารที่เรียกว่าอะ โจอิน (ajoene) ในน้ำมัน มักบรรจุในแคปซูล มีผลการทดลองพบว่ามีผลดีในการละลายลิ่มเลือด
2. กระเทียมสกัดผง มีทั้งที่บรรจุในแคปซูล หรือทำเป็นเม็ดเคลือบ เป็นการทำให้กระเทียมเป็นผงแห้ง อัลลิอิน กับ อัลลิอินเนส จึงไม่ทำปฏิกิริยากัน เมื่อรับประทานจะไปเกิด อัลลิซินในร่างกาย โดย ต้องให้การผสมของอัลลิอิน กับ อัลลิอินเนส เกิดขึ้นในส่วนของลำไส้ มีรายงานผลการทดลอง พบว่า มีผลดีในการลดโคเลสเตอรรอล และไขมันประเภท LDL แต่ไม่มีผลกับไตรกลีเซอไรด์
3. กระเทียมสกัดผงที่เตรียมจากการบ่มกระเทียม (aged garlic) ไว้ที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 2 ปี ก่อนนำมาใช้โดยบรรจุในแคปซูล ดังนั้นสารที่บรรจุในแคปซูล เป็นสารที่เกิดจาการสลายตัว ของอัลลิซิน จนถึงขั้นสุดท้าย จะได้เป็นสารที่ละลายในน้ำและดูดซึมได้ดี ไม่มีกลิ่นของกระเทียม เหลืออยู่ มีการทดลองเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้มาก และเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งว่า สามารถช่วยลด โคเลสเตอรอล และการจับตัวของเกล็ดเลือดมีผลลดความดันโลหิต มีผลต้านอนุมูลอิสระ และมี การพยายามศึกษาการใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเอดส์
ข้อควรคำนึงถึงในการตัดสินใจใช้ ผลิตภัณฑ์กระเทียมเสริม
สิ่งสำคัญที่สุด ที่ควรคำนึงในการตัดสินใจที่จะทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือร่างกาย หรือสุขภาพ ของเรา นั่นเอง จะขอแบ่งเป็นกลุ่มคนสี่ลักษณะ ดังนี้
1. คนปกติ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีประวัติของครอบครัวที่อาจมีความเสี่ยงเกี่ยวกับความดันโลหิต โรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน ไขมันในหลอดเลือดสูง หรือเบาหวาน แทบไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมของกระเทียมสกัดเลย เพราะประโยชน์อาจน้อยกว่า
ข้อพึงระวัง ... การบริโภคกระเทียมตามปกติ ร่วมกับการรับประทานอาหารครบทุกหมู่ และการออก กำลังกาย จะดีกว่าการบริโภคกระเทียมเสริม 2. คนปกติ สุขภาพแข็งแรง ขณะนี้ไม่มีโรคประจำตัว แต่อาจมีประวัติครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อ อาการอย่างใดอย่างหนึ่งในข้อ 1. อาจใช้ผลิตภัณฑ์กระเทียม โดยเลือกที่ตรงกับอาการที่ต้องการ บ่งใช้ แต่ควรใช้ขนาดน้อยที่สุด เป็นการเน้นการเสริม เพื่อป้องกัน ทั้งนี้ ต้องไม่อยู่ในกลุ่มที่มีข้อพึง ระวังที่จะกล่าวต่อไป
3. คนที่เริ่มมีอาการความผิดปกติ อย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาในข้อ 1. และแพทย์วินิจฉัยว่ายังไม่ ต้องใช้ยา เช่น ระดับโคเลสเตอรอลค่อนข้างสูงแต่ยังไม่ถึงระดับต้องใช้ยา แต่ให้ระวังเรื่องอาหาร เป็นต้น อาจใช้ผลิตภัณฑ์กระเทียม โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับอาการที่ต้องการบ่งใช้ ควบคู่กับ การปรับเรื่องอาหาร เป็นต้น
4. คนที่มีอาการความผิดปกติ อย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาในข้อ 1. และแพทย์วินิจฉัยว่าควรใช้ยาบำบัดรักษา ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กระเทียมเสริม โดยไม่สอบถามความเหมาะสม และความ จำเป็นกับแพทย์ที่รักษาหรือเภสัชกรก่อน ต้องไม่ลืมว่า ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพไม่ใช่ยา จะใช้ บำบัดโรคภัยที่มีอยู่แทนยาไม่ได้ แต่อาจใช้ช่วยผลการรักษาด้วยยาได้ในบางกรณี ไม่ควรละจาก ยาและใช้ผลิตภัณฑ์เสริมแทน
กลุ่มที่มีข้อพึงระวังในการที่จะตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์กระเทียมเสริม
จากที่แยกตามกลุ่มสุขภาพที่ได้กล่าวไปแล้ว สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่น่าจะตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์ กระเทียมเสริมได้ ให้พิจารณาต่อไปว่า ตนเองอยู่ในลักษณะใดต่อไปนี้ หรือไม่ ถ้าอยู่เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่ น่าใช้ผลิตภัณฑ์กระเทียมเสริม ได้แก่
- คนที่มีความดันโลหิตปกติต่ำ - คนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ เพราะกระเทียมมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยไปมีผลต่อ อินซูลีน
- คนที่ปกติถ้ามีเลือดออกแล้วเลือดมักหยุดช้า เพราะกระเทียมจะทำให้เลือดเหลว หยุดช้ามาก ขึ้น หากมีอุบัติเหตุจะทำให้เสียเลือดมาก และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- คนที่ใช้ยาอื่นๆ อยู่ประจำ เช่น ยาแอสไพริน ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยาปฏิชีวนะ ยา ต้านไวรัส ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียลอยด์ ยาที่ต้องถูกเมตาบอไลต์ด้วยเอ็นไซม์ที่ตับ ฯลฯ กระเทียมไปมีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงของยาเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอันตรายของยาได้ หากต้องการใช้ร่วมกันควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อกำหนดขนาดของยาใหม่ เพื่อความ ปลอดภัย
- สตรีมีครรภ์ หรือเลี้ยงลูกด้วยนม เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยชัดเจน
- ในคนที่แพทย์วินิจฉัยว่าต้องใช้ยาแผนปัจจุบันในการรักษา ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้กระเทียม เสริมแทนการใช้ยา เพราะไม่สามารถทดแทนผลการรักษาได้
แม้กระเทียมจะมีประโยชน์มากมายจากสารเคมีหลากหลายชนิดที่มีอยู่ในกระเทียม อย่าใช้ กระเทียมเพื่อหวังป้องกันอาการต่างๆ ในขณะที่เรามีสุขภาพแข็งแรงดี เพราะเหมือนเรารับสารเคมีที่มี ผลกระทบต่อระบบที่ดีของร่างกาย ควรศึกษาทำความเข้าใจก่อนคิดใช้ แต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าใช้ตาม ผู้อื่น ผลลัพธ์การใช้แต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญยังเป็นการรับประทานอาหารที่ครบห้าหมู่ พักผ่อน เพียงพอ และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา เภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
0 comments:
Post a Comment