Search-form

อาหารทดแทน: ทางเลือกของเด็ก ‘แพ้’


           "จะทำยังไงดี ลูกพี่กินอะไรก็ไม่ได้ นั่นก็แพ้ นี่ก็แพ้ นี่ไม่รู้จะทำอะไรให้ลูกกินแล้วนะ" เสียงบ่นจากคุณแม่คนหนึ่ง ที่ลูกน้อยแพ้อาหารอยู่หลายชนิดเลยค่ะ จนเกิดอาการตัน คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรให้เจ้าตัวเล็กกินดี แม่ ๆ บางคนคงประสบปัญหาแบบนี้อยู่เหมือนกันใช่ไหมคะ เรามาทำความรู้จักกับการแพ้อาหารของลูก พร้อมกับอาหารทดแทนที่เหมาะกับลูกเรากันเถอะค่ะ
   ทำไมลูกรักถึงแพ้อาหาร    
           การแพ้อาหารเป็นภาวะภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากกรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของลูกซึ่งไม่ทนทานต่ออาหารที่แพ้ หรือเกิดจากปฏิกิริยาที่ไวต่ออาหารนั้น ๆ เพราะมีการกระตุ้นจากระบบภูมิต้านทานของร่างกาย โดยอาการแพ้เหล่านี้มักจะพบได้บ่อยในช่วงขวบปีแรก

         อาการแพ้อาหารของเด็กแต่ละคนแตกต่างกันไป ในเรื่องของระดับของความรุนแรง ระยะเวลาที่เกิดอาการ ไปจนถึงปริมาณอาหารที่ได้รับ นอกจากนี้ อาหารบางชนิดถ้าแพ้แล้วอาจแพ้ตลอดไป แต่บางชนิดอาจหายได้เมื่อลูกโตขึ้น

      สำหรับอาการแพ้เกิดขึ้นได้กับทุกระบบของร่างกาย แต่ที่พบบ่อย คือ
      ระบบทางเดินอาหาร อาการแพ้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ปากบวมเจ่อ คันบริเวณริมฝีปาก

      ระบบผิวหนัง อาการที่พบบ่อยคือ มีผื่นคัน ตุ่มแดง ลมพิษ บริเวณผิวหนังหรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

      ระบบทางเดินหายใจ อาการที่พบคือ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันในจมูก คอแห้ง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หอบ มักพบร่วมกับอาการทางระบบทางเดินอาหารหรือผิวหนัง

         ลองสังเกตดูว่า เจ้าตัวเล็กมีอาการแบบนี้บ้างหรือเปล่า ถ้ามีอาจเข้าข่ายแพ้อาหารบางชนิดแล้วค่ะ ควรพาลูกไปทดสอบว่า แพ้อาหารชนิดไหนบ้าง และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น

     Top 6 Baby’s food allergy     
         มีอาหารอยู่หลายกลุ่มที่เด็ก ๆ ขวบปีแรกมักจะแพ้กัน เราเลยรวบรวม Top 6 Baby’s food allegy อาหาร 6 กลุ่มที่เจ้าตัวเล็กแพ้กันอยู่บ่อย ๆ มาให้แม่ๆ ได้รู้จักกัน แต่ใช่ว่าแพ้อาหารชนิดไหนแล้ว จะขาดสารอาหารที่ควรได้รับจากอาหารชนิดนั้นไปเลย เพราะเรามีทางเลือก อาหารบางอย่าง สามารถทดแทนและเติมเต็มประโยชน์ตามที่ร่างกายต้องการได้เหมือนกัน มีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

    1. นมแม่ทดแทนนมวัว          ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ที่เราคุ้นเคยกันดี คงเป็นอาหารจำพวกชีส โยเกิร์ต ครีม นั่นแหละค่ะ การแพ้ก็อาจมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ พันธุกรรม และการแพ้โปรตีนเวย์ เคซีน และ b–lactoglobulin ซึ่งเป็นการแพ้โปรตีนนมวัว หรือที่เรียกว่า Cow Milk Protein Allergy ที่ทำให้มีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินอาหาร และอาจจะมีอาการทางผิวหนัง หรือระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย

      ทางเลือก : นมแม่ นมถั่วเหลือง หรือนมไก่ โปรตีนในนมทางเลือกเหล่านี้ ย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่านมวัว แต่มีสารอาหารใกล้เคียงกัน จึงสามารถทดแทนกันได้
    2. เนื้อไก่ทดแทนถั่วลิสงและถั่วเหลือง
         นอกจากพันธุกรรมแล้ว ไกลโคโปรตีนในถั่วลิสงอาจเป็นสาเหตุของการแพ้อาหารชนิดนี้ได้ด้วย อาการที่พบเมื่อเกิดการแพ้คือ อาเจียน เป็นลมพิษ บางรายที่แพ้มาก ๆ อาจหายใจลำบากมากขึ้น

         ส่วนการแพ้ถั่วเหลือง อาจเกิดจากการแพ้โปรตีนที่เมล็ดถั่วเหลืองเก็บสะสมไว้เป็นอาหาร เพื่อการเจริญเติบโตของเมล็ดถั่วเอง และอาจเกิดจากการกินอาหารของแม่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมลูก เช่น กินนมถั่วเหลืองมากเป็นพิเศษ นี่ก็มีส่วนส่งเสริมให้ลูกมีอาการแพ้ถั่วเหลืองได้เหมือนกัน อาการที่พบได้ คือ มีผดผื่นขึ้นตามตัว

        ควรหลีกเลี่ยงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง ถั่วสิสง เช่น ซีอิ้ว เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เนยถั่ว เค้ก คุกกี้ที่ใส่ถั่ว ควรอ่านฉลากเพื่อตรวจสอบว่ามีส่วนผสมของถั่วที่ทำให้แพ้หรือไม่

      ทางเลือก : สารอาหารที่ทดแทนโปรตีนจากถั่วได้ คือ เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อปลา ไก่ แพะ แกะ หมู เนื้อวัว รวมถึงนมวัว
    3. ถั่วเหลืองทดแทนปลาและอาหารทะเลอื่น ๆ
         ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแพ้ปลาคือ โปรตีน parvalbumins และ Gad c1 ซึ่งมีอยู่ในเนื้อปลาทุกชนิด ส่วนโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สำคัญในสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง ประเภทกุ้งและหอย คือ tropomyosin

      ทางเลือก : รับโปรตีนจากแหล่งอื่น เช่น หมู ไก่ สาหร่าย ถั่วเหลือง รวมทั้งปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาทับทิม ฯลฯ ซึ่งมีโปรตีนที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย คล้ายกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์
    4. เนื้อหมูทดแทนไข่
        ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักจะแพ้เฉพาะไข่ขาว แต่เด็กบางคนอาจแพ้ไข่แดงด้วย ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแพ้คือ โปรตีนที่อยู่ในไข่ขาวชื่อ ovomucoid, ovalbumin และ ovotransferrin ดังนั้น การให้อาหารเสริมช่วง 6 เดือนจึงควรเริ่มด้วยไข่แดงก่อน

      ทางเลือก : รับโปรตีนชนิดอื่นจากเนื้อสัตว์ทดแทน เช่น หมู ไก่ ปลา แพะ แกะ นม รวมถึงการกินนมตามวัย
    5. แป้งข้าวเจ้าทดแทนแป้งสาลี
        กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบมากในอาหารที่ทำจากแป้งสาลี เช่น เค้ก ขนมปังต่างๆ รวมทั้งธัญพืชโดยเฉพาะที่นิยมกินเป็นอาหารเช้า เช่น ซีเรียล ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต นอกจากนี้ กลูเตนยังมีมากในเนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากแป้งสาลี ซึ่งพบบ่อยในเทศกาลอาหารเจ ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้ออาหารให้ลูก เพราะอาหารบางอย่างดูจากภายนอกอาจไม่รู้ส่วนผสมที่แท้จริง

      ทางเลือก : ควรกินอาหารประเภทแป้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด ซึ่งไม่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนกลูเตน ทำให้ลูกไม่แพ้ แต่ให้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเหมือนกัน
         แม้ลูกจะแพ้อาหารบางอย่างหรือหลาย ๆ อย่าง ก็ไม่เป็นอุปสรรคให้แม่อย่างเราถึงทางตันได้หรอก จริงมั้ยคะ
ที่มา Modern Mom

0 comments:

Post a Comment

Facebook Twitter Delicious Digg Stumbleupon Favorites More